• login
  • register
  • How to
  • product
  • game pc
  • Promotion

Flash banner right

ทำไมการให้บริการ Game Streaming ถึงเป็นไปได้ในยุคนี้

 ปัจจุบันนี้วงการเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าในสมัยก่อนอย่างมากมาย เทคโนโลยีเดิมหลายอย่างถูกโละทิ้งไม่ได้รับการสานต่อ และมีของใหม่เข้ามาแทนที่อยู่เรื่อย ๆ และโลกของวิดีโอเกมก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง กับการกลับมาของเทคโนโลยี Game Streaming ที่มีเจ้าพ่อแห่งวงการอย่าง Google เป็นผู้หนุนหลัง รวมไปถึงผู้พัฒนาเจ้าอื่นที่เตรียมลุยในสังเวียนนี้ด้วย

ในสมัยก่อนสักห้าปีที่แล้ว ถ้าเราจะเล่นเกมสักเกมหนึ่งเราจะนึกถึงอะไร? เล่นผ่านเครื่อง PC?, คอนโซล? หรือมือถือ Smartphone? แต่เรากลับไม่ได้นึกถึงการเล่นเกมผ่านระบบ Streaming หรืออะไรแบบนั้นมาก่อนเลย เพราะเรายังยึดติดภาพจำที่ว่า ถ้าจะเล่นเกม ก็ต้องเล่นผ่านเครื่องที่มีกำลังในการประมวลผลที่สูงเพื่อความลื่นไหลและอรรถรสสูงสุด

แต่ในอนาคตข้างหน้านี้ เพียงแค่มีอินเตอร์เนตความเร็วสูง ๆ ก็สามารถเล่นเกมโปรดได้แล้ว ไม่ว่าจะที่ไหนหรือมีฮาร์ดแวร์ที่ประสิทธิภาพไม่สูงมากนักก็ตาม

ซึ่งที่จริงแล้ว ระบบการเล่นเกมผ่านระบบ Cloud Server นั้นถูกผลักดันมาโดยตลอดจากค่ายเกมใหญ่ ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้ก้าวหน้ามากเท่าสมัยนี้ เช่น PlayStation Now ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2014 ของ Sony แต่เพิ่งจะมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หรือ OnLive ที่พยายามผลักดันการให้บริการ Game on Demand ในแบบ Streaming แต่ก็ต้องปิดตัวไปเพราะความไม่พร้อมและไม่มีผู้ใช้บริการที่มากพอ เรียกว่ามาก่อนกาลเกินไปนั่นเอง

 

OnLive บริการเล่นเกมแบบ Streaming ที่มาก่อนกาล

 

ทีนี้เราลองมาดูความพร้อมของเทคโนโลยีในยุคนี้กันบ้างว่าพร้อมแค่ไหน มีสองสิ่งที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงการให้บริการแบบ Streaming ก็คือความเร็วอินเตอร์เนต และความพร้อมของผู้ให้บริการ

เร็วกว่า ดีกว่า แกร่งกว่า

ส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นปัญหาคาราคาซังมาโดยตลอดก็คือเรื่องของสัญญาณอินเตอร์เนต แม้ทุกวันนี้เราจะสามารถรับชมวิดีโอจาก YouTube แบบ 1080p ผ่านทางระบบ 4G บนมือถือได้อย่างลื่นไหล แต่การเล่นเกมผ่านระบบ Streaming ฯนจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งการจัดการต่อเรื่องของความหน่วงหรือ Latency Ping และอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากตอบสนองไม่ดีหรืออาการกระตุก ทุกอย่างก็จบ

แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเชื่อมต่ออินเตอร์เนตนั้นก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และดูเหมือนผู้ให้บริการเองก็เตรียมพร้อมในเรื่องนี้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น Stadia ที่มีการใช้มาตรฐานที่ชื่อว่า WebRTC ที่ช่วยหนุนให้การ Video Call มีความรวดเร็วมากขึ้นและลด Latency ลง ด้วยการเชื่อมต่อแบบตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องหนึ่ง แทนที่จะทำผ่านเซิร์ฟเวอร์แบบปกติ

แม้การเชื่อมต่อดังกล่าวนี้จะยังต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เนตที่ดีและเสถียรอยู่ แต่มันก็ช่วยลดความหน่วงที่ต้องมีการประมวลผลจากเซิร์ฟเวอร์ไปก่อนได้อย่างมาก ซึ่งเป็นข้อเสียที่ทาง OnLive ประสบ เพราะการเล่นเกมของพวกเขานั้นต้องผ่านการประมวลผลกลางจากเซิร์ฟเวอร์เสียก่อน จนทำให้เกิดอาการหน่วงช้าจนเล่นได้ไม่สนุกนั่นเอง

ซึ่งการเชื่อมต่อแบบ WebRTC นี้จะช่วยให้การเล่นเกมผ่านระบบ Streaming ทำได้ง่ายดายขึ้น แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งก็มีมาตรการแผนสองรองรับให้การรับชมวิดีโอลื่นไหลไม่ติดขัด คือการลดความละเอียดของภาพลงเพื่อให้วิดีโอเล่นต่อไปได้ ซึ่งทาง Google เองก็เคลมว่า Stadia ของพวกเขานั้นก็จะมีระบบนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้การเล่นเกมเป็นไปอย่างลื่นไหลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และที่สำคัญคือผู้เล่นไม่ต้องมากังวลกับเรื่องการอัพเดต Patch เกมอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจะถูกใส่เข้ามาในเซิร์ฟเวอร์ของเกมแบบเรียลไทม์ ลดภาระของผู้เล่นลงหลายส่วน เพื่อให้การเล่นเกมนั้นเป็นไปอย่างลื่นไหลที่สุดนั่นเอง

Cloud อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

 

Data Center ของ Microsoft ที่กระจายตัวไปมากกว่า 54 ประเทศทั่วโลก

 

แม้จะมี WebRTC แล้ว แต่ปัญหาที่หลายคนกังวลก็คือ เซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการนั้นจะทั่วถึงและรองรับได้เพียงพอหรือไม่? ซึ่งเราก็ต้องไม่ลืมว่า Google, Microsoft หรือ Sony นั้นก็เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลกที่ย่อมต้องมีเซิร์ฟเวอร์การให้บริการฐานข้อมูลอยู่ทั่วโลกอยู่แล้ว มันจึงไม่แปลกใจที่พวกเขาจะยอมทุ่มทุนเพื่อใช้ในการทำ Cloud Server เพื่อการประมวลผลของเกมที่ผู้ใช้งานเล่นแบบจริงจังกันอยู่แล้ว

ย้อนอดีตไปในสมัยที่ OnLive ยังเปิดให้บริการ ผู้เล่นจะได้เห็นเกมที่อยู่ในหน้าจอของตน ในขณะที่เซิร์ฟเวอร์กลางจะเป็นตัวประมวลผลการควบคุม แน่นอนว่ามันทำให้การเล่นเกมติดขัดและช้าจนแทบเล่นไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลจากเซิร์ฟเวอร์กลางหรือ Data Center นั้นจะต้องพบกับปัญหาการหน่วงอย่างแน่นอน

ซึ่ง Microsoft และ Google ไม่น่าจะมีปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นแน่นอน ด้วยการกระจายตัวของ Data Center ที่มีอยู่อย่างมหาศาลทั่วโลก ซึ่งก็มาจากการที่มีผู้ใช้งานการบริการของพวกเขาอยู่ทั่วโลก ทั้ง Windows Update และ Search Engine ของ Google เองที่ต้องการความเร็วสูงสุดสำหรับผู้ใช้งานนั่นเอง

แต่ก็อย่างที่พวกเรารู้กันดีว่า ไม่ว่าสิ่งใดในโลกล้วนมีข้อจำกัดของมันอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ ๆ อินเตอร์เนตเร็วที่สุดในโลกก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องอื่น ๆ ตามมาเช่นเคย และทาง Microsoft เองก็ไม่ได้เน้นไปที่การพัฒนาโปรเจกต์ Game Streaming ของตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังมี Project Scarlett ที่เป็นเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่รอวางจำหน่ายในปี 2020 อยู่อีกด้วย

แม้เราจะมองเห็นข้อจำกัดของการให้บริการ Game Streaming แต่หลายอย่างในตอนนี้ก็เรียกว่าพร้อมมาก ๆ แล้ว ที่พวกเราจะได้ทดลองใช้งานแบบเต็มรูปแบบในไม่ช้านี้ แม้การให้บริการลักษณะนี้จะยังมาไม่ถึงในบ้านเราเร็ว ๆ นี้ แต่เราก็มีสัญญาณที่ดีและค่อนข้างมีความพร้อมอย่างมากอยู่แล้วกับ Stadia อย่างที่ผู้เขียนเคยเล่าให้อ่านกันไป มาดูกันว่า เมื่อ xCloud ของ Microsoft และ Stadia จาก Google เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว โลกแห่งการเล่นเกมของเราจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนครับ

 

0 item total: 0 บาท