• login
  • register
  • How to
  • product
  • game pc
  • Promotion

Flash banner right

Beat Em’ Up แนวเกมยอดนิยมที่อยู่ยงมาจนถึงปัจจุบัน

 ขึ้นชื่อว่าการเล่นเกม เป้าหมายหลักย่อมเป็นเพื่อความสนุก และความผ่อนคลาย หลายคนอาจจะเลือกเล่นเกมเนื้อเรื่อง เพื่อดื่มด่ำไปกับบรรยากาศของเกม หลายคกน็เลือกเล่นเกม Multiplayer เพื่อท้าทายตัวเอง (เป็นวิธีการพักผ่อนอย่างหนึ่ง) แต่แนวเกมหนึ่งที่อยู่กับเรามานานมาก และคาดว่าจะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือเกมแนว Beat Em’ Up หรือเกมแนวเดินหน้าซัดไม่ยั้ง เคลียร์ด่านไปเรื่อย ๆ จนจบเกม วันนี้ GamingDose ขอพาทุกท่านเข้าสู่โลกของเกมแนว “เดินหน้าลุย” กันดูว่า มันมีประวัติความเป็นมา และมีเกมไหนบ้างที่น่าสนใจ

Welcome to Beat Em’ Up

Beat Em’ Up ถือเป็นแนวเกมประเภทหนึ่ง ที่มีรูปแบบการนำเสนอคือการต่อสู้ระหว่างเราที่เป็นตัวเอกกับคู่ต่อสู้ที่มาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มากเท่าเกมแนว Musou โดยเกมประเภทนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคเกมเก่าที่เป็น 2D จนกราฟิกพัฒนามาจนถึง 3D ที่รองรับจำนวนเยอะขึ้น จุดเด่นของเกมแนวนี้คือ เล่นง่าย ย่อยง่าย แถมสนุกสะใจอีกต่างหาก คิดดูว่าเราสวมบทเป็นพระเอกที่ต่อสู้กับศัตรูนับสิบได้ด้วยตัวคนเดียว มันเท่แค่ไหน นอกจากนั้นตัวเกมแนวนี้ส่วนมากยังสามารถเล่นแบบ Co-op เล่นกับเพื่อนได้อย่างน้อยก็ 2 คนอีกด้วย ก่อนจะเพิ่มเป็น 4 คนในยุคปัจจุบันที่เน้นเล่นออนไลน์กันได้

ส่วนมาก ธีมหรือฉากหลังของเกมแนวนี้จะอยู่ในเมือง มีเรื่องเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรเป็นส่วนมาก แต่ถัดจากนั้นก็ก็มีส่วนของแฟนตาซี เวทย์มนต์เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง อยู่ที่ว่าทีมผู้สร้างเขาจะครีเอทเนื้อหาออกมาในแนวไหน แต่ Beat Em’ Up ก็ถือเป็นแนวเกมที่สนุก และเข้าถึงง่ายมากแนวหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของเกมแนว Beat Em’ Up

ไม่มีที่มาที่ไปที่แน่ชัด ว่าควรยึดเกมไหนเป็นเกมแรก แต่เกมที่ถูกถือว่าเป็น Beat Em’ Up นั้นคือ Heavyweight Champ เมื่อปี 1976 ซึ่งเป็นเกมของค่าย SEGA แต่เกมนี้มีคู่ต่อสู้คือนกมวยอีกฝั่งเพียงคนเดียวเท่านั้น ก่อนที่เกมอื่น ๆ จะเริ่มเอาแนวคิดไปใช้ และเกมที่โด่งดังมาก ๆ เลยในตอนนั้นคือเกม Kung Fu Master หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Spartan X ที่เกมเมอร์บ้านเราต้องเคยเล่นแน่นอน (เสียง อะโจ๊ ๆ ๆ ยังอยู่ในหัวจนทุกวันนี้)

ถัดมาอีกหน่อยก็คือเกม Karateka เกมหัวร้อนยุคแรก ๆ ที่มาเป็นแนวคาราเต้ ต่อสู้ตะลุยด่านไปเรื่อย ๆ จากนั้นเกมแนวนี้ก็เริ่มนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นแนวเกมยอดนิยมประจำเครื่องอย่ง Famicom หรือ SNES ที่โด่งดังไปทั่วโลก น่าจะหนีไม่พ้นซีรีส์เกมอย่าง Kunio ด้วยนั่นเอง แต่ก่อนเรียกเกมนักเรียนต่อยกัน และจริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายเกมที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานของเกม Beat Em’ Up อย่างเช่น Double Dragon หรือ Street of Rage อีกด้วย

ยุคทองของเกมแนวนี้

ในช่วงปี 1987 ถือว่าเป็น Golden Age หรือยุคทองของแฟนเกมแนวนี้เลย เริ่มจากการเปิดตัวของเกม Double Dragon ที่ทำให้เกมแนวนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุดด้วยระยะเวลากว่า 5 ปีเต็ม ความสำเร็จของ Souble Dragon ทำให้มีเกมแนวนี้ตามออกมาอีกมากมาย สองในนั้นคือ Golden Axe และ Final Fight ที่ทั้งสองเกมนี้ออกมาในปีเดียวกัน และประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายทั้งคู่ ก่อนที่ช่วงต้นปี 1990 จะเป็นการมาของซีรีส์ Street of Rage ส่วนทาง Capcom เองก็งอกทีมในตำนานที่เรายังคิดถึงอยู่จนทุกวันนี้อย่าง Captain Commando ออกมาด้วย

นอกจากนั้นแฟรนไชส์ต่าง ๆ ก็หยิบเอาเกมแนวนี้ไปสร้างเป็นเกมของตัวเอง เช่น Teenage Mutant Ninja Turtles ที่มีออกมาถึง 3 ภาค (ผู้เขียนชอบภาค 3 Manhattan Projects ที่สุด) หรือ Marvel เองก็เคยทำเกมแนวนี้โดยใช้ตัวละคร Frank Castle หรือ The Punisher ด้วยเช่นกัน ถือว่าเป็นแนวเกมยอดนิยม และเป็นยุคทองของมันอย่างแท้จริง

และสุดท้าย Beat Em’ Up ก็ประยุกต์ไปเป็นเกมอีกแนวอย่างเช่น Musou ที่เป็นการเล่นแบบเดินหน้าฆ่าไม่เลี้ยง ตัวอย่างเช่น Dynasty Warriors , Warrios Oroshi เป็นต้น และ One Piece Pirate Warriors เองก็เป็นหนึ่งในเกมตระกูล Musou ด้วย

Beat Em’ Up ในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ก็ยังมีเกมแนวนี้ออกมาให้เล่นกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Bloody Zombie ที่ให้เราเดินหน้าต่อยแหลกกับพวกซอมบี้ , River City Ransome ที่สานต่อเจตนารมณ์มาจากเกมยุคเก่า Shank 1-2 ที่เก็บความดิบเถื่อนรุนแรงไว้ครบถ้วน และภาคแยกของซีรีส์ River City อย่าง River City Girls เป็นต้น และทาง SEGA เองก็ยังคืนชีพแฟรนไชส์ Streets of Rage ให้กลับมาอีกครั้งในภาคที่ 4 อีกด้วย

ต้องบอกว่าแม้ว่าเกมแนวนี้จะอยู่มานานมากแล้ว แต่เพราะความเข้าถึงง่าย เล่นง่าย เล่นสนุก และรองรับการเล่นแบบหลายคน ทำให้มันยังเป็นที่นิยมในเกมยุคปัจจุบันนี้ บ่อยครั้งที่เราเบื่อกับเกมภาพสวย ๆ เนื้อเรื่องเข้มข้น เราก็คงเปิดเกมแนวนี้เล่นอย่างสบายใจ แล้วก็จบไปอีกวันหนึ่ง มันก็เท่านั้น

 

0 item total: 0 บาท