Psychological Horror ความสยองทางจิตวิทยา กับการเสริมความกลัวของจิตใจผู้เล่น
สิ่งที่ง่ายที่สุดที่เรามักจะเห็นกันเป็นประจำในเกมหรือภาพยนตร์สยองขวัญก็คือการใช้ Jump Scare ด้วยเสียงหรือภาพที่โผล่ออกมาแบบกะทันหัน จนทำให้เราตกใจกลัว แม้จะเป็นองค์ประกอบง่าย ๆ แต่ก็ทำให้หลายคนกลัวจนตัวสั่นไม่กล้าเกมหรือดูหนังเรื่องนั้นอีก แต่เพราะความง่ายของมันก็ทำให้ทุกคนเดาทางของพวกนี้ได้ จนหมดความน่ากลัวไป
ดังนั้น โลกของเราจึงมีความสยองอีกแบบหนึ่งเพิ่มเข้ามา เป็นความน่ากลัวที่เย็นเยียบ กดดันให้เราเสียสติทำอะไรไม่ถูก และอาจหลอกหลอนเราไปจนถึงนอกเกมกันเลย และความน่ากลัวนี้เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อว่า Psychological Horror นั่นเอง
ก่อนที่จะไปรู้จักผลงานแนวนี้ เรามาดูกันก่อนว่า Psychological Horror นี้มันคืออะไร มันคือ Subgenre ของสื่อบันเทิงแนวสยองขวัญ ที่ไม่ได้เน้นฉากการฆ่าแบบสยองขวัญโหดเหี้ยมแบบแนวฆาตกรต่อเนื่อง ไม่ได้มีฉาก Jump Scare ผีตุ้งแช่โผล่ออกมาให้หัวใจวาย แต่เน้นให้ผู้ชมเกิดความกลัวในจิตใจ เล่นกับความรู้สึกในรูปแบบต่าง ๆ เช่นความอึดอัด ความกดดัน และความสับสน จนหลายครั้งทำให้เรารู้สึกหลอนและระแวงว่ามันจะมีอะไรต่อไปเกิดขึ้นหรือไม่
เรียกง่าย ๆ ว่าเล่นกับความรู้สึกของเรา ให้เราไม่วางใจในบรรยากาศของเรื่อง แถมบางครั้งจุดที่ควรจะมีการปลดปล่อยสิ่งที่สร้างขึ้นมาหลายชั่วโมงออกมาก็ไม่มี เล่นความรู้สึกของเราอย่างโหดร้ายไม่น้อย
องค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้ใน Psychological Horror จะเป็นอะไรก็ได้ ทั้งเรื่องภูตผีเหนือธรรมชาติ ความรู้สึกสงสัยและลึกลับ บวกรวมกับพฤติกรรมของตัวละครหรือองค์ประกอบอื่น ๆ จนจิตใจของเราเริ่มปรุงแต่ง จนถึงจุดหนึ่งเราก็อาจจะสลัดภาพที่อยู่หนังหรือเกมออกไปจากหัวไม่ได้เลย ยิ่งหากในเรื่องมีการตัดให้บท Plot Twist ในจุดที่เหมาะสมหรือพรั่งพรูเข้ามาแบบตั้งตัวไม่ติด ก็ทำให้เรารู้สึกสะเทือนจิตใจไปยิ่งกว่ากันเลย
นอกจากบรรยากาศของเรื่องแล้ว แรงจูงใจหลายอย่างที่เราได้เห็นในสื่อบันเทิงแนวนี้ก็ล้วนข้องเกี่ยวกับสภาวะทางจิตใจของมนุษย์เราที่เต็มไปด้วยความสับสน ดังที่เราได้เห็นจากบุคลิกของเหล่าตัวละครที่บกพร่องจนเกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติขึ้นมา จนนำไปสู่ความน่ากลัวที่เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ซึ่งเมื่อบวกรวมกับสิ่งเหนือธรรมชาติในเรื่องแล้ว ก็ยิ่งเสริมความน่ากลัวและขนลุกขนพองขึ้นไปอีกหลายเท่าเลยทีเดียว
ดังนั้นความน่ากลัวของ Psychological Horror จึงไม่ใช่ฉากฆาตกรรมสุดโหด เลือดไหลนองเต็มพื้น หรือฉาก Jump Scare แบบกะทันหันจนสะดุ้งตกเก้าอี้ แต่เป็นการที่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราจะเจอต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เป็นความอึดอัด กดดัน ท่ามกลางความผิดปกติของจิตใจและเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว จนเราอาจจะเสียสติไปเสียก่อนที่จะได้รู้ถึงจุดจบของเรื่องกันเลย
หากเรายกตัวอย่างชิ้นงานแนว Psychological Horror ในวงการภาพยนตร์ที่โด่งดังมาก ๆ ก็คงหนีไม่พ้น The Shining ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ผลงานสยองขวัญระดับตำนานที่ดัดแปลงจากนิยายขายดีของ Stephen King ซึ่งเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหนักมากจนแทบไม่เหมือนกันเลย แต่ด้วยการสร้างบรรยากาศที่กดดันและหลอกหลอนตัวเองและผู้ชมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวหนังในช่วงกลางเรื่องเป็นต้นไปอย่างมาก นำไปสู่บทสรุปที่ยังติดตาทุกคนมาจนถึงวันนี้
จริงอยู่ที่สื่อบันเทิงแบบ Psychological Horror นั้นจะอยู่คู่วงการภาพยนตร์มานานและมีจำนวนมาก ทว่าในโลกวิดีโอเกมนั้นพวกเรากลับไม่ค่อยเห็นความสยองขวัญในรูปแบบจิตวิทยานี้กันสักเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเกมสยองแบบจิตวิทยานี้มักจะได้รับความสนใจอยู่เรื่อย ๆ ไม่ต้องใช้ความรุนแรง หรือสร้างบรรยากาศหลอน ๆ ด้วยความมืดแบบขอไปที แต่อาศัยความบิดเบี้ยวของตัวละครและเรื่องราวพัง ๆ ในเกมให้ผู้เล่นรู้สึกสนใจใคร่รู้และขนลุกไปพร้อมกัน นำไปสู่จุดจบอันคาดไม่ถึง
Silent Hill ถือเป็นเกมแรก ๆ ที่เราพอจะบอกได้ว่ามันคือเกมสยองแนว Psychological Horror
เพราะมันมีทั้งบรรยากาศไม่น่าวางใจ ปมในอดีตของตัวเอกที่หลอกหลอนต่อเนื่อง และเหล่าศัตรูที่บิดเบี้ยว เสริมรวมกันเป็นความกลัวที่ใครก็ไม่อยากเจอ หรือ Alan Wake ที่ตัวเอกต้องต่อสู้กับปีศาจในใจของเขาเองเพื่อพาตัวคนรักกลับมาก็ทำได้ดีเยี่ยม อาจจะไม่น่ากลัวเท่า Silent Hill แต่ก็ทำได้เยี่ยมเช่นกัน
หรือเอาให้แหวกกว่านั้นก็ต้องยกให้เกม Visual Novel ที่แอบซ่อนความลับอันน่าขนลุกมากมายอย่าง Doki Doki Literature Club ผู้ทำให้เกมเมอร์หลายคนนอนไม่หลับมาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการนำเสนอแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ แต่ก็กลับลำทำ Plot Twist จนเหวอตกเก้าอี้มาแล้วด้วยภาพและเสียงที่ชวนช็อค นำพาไปสู่บทสรุปและวิธีการเล่นที่ไม่เหมือนเกมใดเลยในโลกนี้ และเชื่อว่าภาพและสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมนี้จะติดอยู่ในหัวของคุณไปชั่วชีวิตเลย
ปัจจุบันนี้เราคุ้นชินกับ Psychological Horror กันมากขึ้น แม้จะไม่ค่อยมีผลงานเกมในลักษณะนี้ออกมาให้เราได้เล่นกันมากนัก แต่หลายเกมที่ถูกสรรค์สร้างมาก็กลายเป็นที่รู้จักแทบทั้งสิ้น เพราะมีไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นเกมที่สร้างความน่ากลัวจากการเข้ามาเล่นในจิตใจของเรา และเมื่อมันสัมฤทธิผลในการนำเสนอ ผู้เล่นและผู้รับสารก็จะลืมมันไม่ลงไปอีกนาน
หากคุณสนใจค้นหาความกลัวที่ไม่ได้มีแค่ความโหดร้ายหรือการไล่ล่าจากสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่มาจากก้นบึ่งในจิตใจ Psychological Horror น่าจะเป็นสิ่งที่คุณกำลังค้นหาอยู่อย่างแน่นอนครับ
0 item total: 0 บาท |