Deadly Premonition คืออะไร
Deadly Premonition เป็นเกมแนวสยองขวัญเอาตัวรอด Open World พัฒนาโดยทีมนักสร้างเกมญี่ปุ่น Access Games ซึ่งออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2010 บน PlayStation 3, Xbox 360 และได้รับการพอร์ตลง PC ในปี 2010 และ Nintendo Switch ในปี 2019
หลังจากเกมดังกล่าวได้ออกวางจำหน่ายเป็นวันแรก ก็ได้สร้างเสียงฮือฮาต่อวงการอุตสาหกรรมช่วงหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพราะมันเป็นเกมมีเนื้อเรื่อง เกมเพลย์ หรือภาพกราฟิกเทพ แต่เกมนี้มีกระแสรีวิวเกณฑ์ระดับ “Mediocre” หรือแม้แต่บางเจ้าสำนักยกให้เป็นเกมยอดแย่ประจำปี 2010 ซะด้วยซ้ำ แต่ด้วยสาเหตุบางอย่าง เจ้าสำนักหลายแห่งได้ยกตำแหน่งเป็น “เกมแย่ยอดเยี่ยม” “Worst Best Game” หรือแม้กระทั่งกระแสรีวิวจากผู้เล่นสวนทางจากเจ้าสำนักเกมอย่างเห็นได้ชัด
แน่นอนว่ามันจะต้องมีความพิเศษอะไรบางอย่างที่ทำให้เกมนี้จากที่เป็นเกมแย่กลายเป็นดีในมุมมองของผู้เล่นบางคน แล้วจะมีสาเหตุอะไรบ้าง ก็มีดังนี้
องค์ประกอบทุกอย่างแย่ไปหมด
กราฟิกเกมถือเป็นองค์ประกอบหลักที่เกมเมอร์และเจ้าสำนักต่างวิจารณ์สับเละว่ามี “คุณภาพแย่มาก” เพียงมองเห็นครั้งแรก เพราะภาพมันทั้งดูตกยุคเหมือนกราฟิกปลายเจเนอเรชันที่หก (PlayStation 2, Xbox, Nintendo GameCube) ทั้งที่เกมดังกล่าวลงให้ PlayStation 3 กับ Xbox 360 รวมถึงคุณภาพวิชวลเอฟเฟกต์ก็ย่ำแย่พอกัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกราฟิกเกมดังกล่าวกับเกมยุคนี้ ก็เหมือนเกมปั๊ม Achievement ที่สร้างด้วย Unreal Engine 4 แล้วขายราคาถูกผ่าน Steam
นอกจากนี้ การ Optimized จัดว่าสอบไม่ผ่านอีกด้วย เจ้าสำนักหลายแห่งรายงานว่าระหว่างการเล่นเกมได้พบปัญหาบั๊กมากมาย ตั้งแต่เฟรมกระตุก เพลงประกอบติด ๆ ดับ ๆ หรือพบอาการเด้ง Crash เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมดังกล่าวไม่มีความลื่นไหลแม้แต่นิดเดียว
ระบบเกมเพลย์นับว่ามีจุดให้คอมเพลนต์เยอะใช้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการควบคุมตัวละครสุดซุ่มซ่ามที่ชวนให้ปาจอยทิ้งซะเหลือเกิน และมุมกล้องยิงปืนข้ามหัวไหล่สไตล์ Resident Evil 4 ก็มักมีปัญหาตัวละครชอบบดบังวิสัยทัศน์ในพื้นที่แคบ รวมถึงเกมการเล่นไม่ได้เอกลักษณ์หรือความน่าจดจำเป็นพิเศษ
การออกแบบผีปีศาจก็จืดชืดอีกด้วย ผีส่วนใหญ่จะมีลักษณะเหมือนซอมบี้ที่ไม่ค่อยน่ากลัวซะเท่าไหร่นัก และบอสไฟท์เองก็ง่ายเกินไป เนื่องจากกระสุนหาได้ง่ายมากจนแทบสาดกระสุนได้ไม่ยั้ง รวมถึงการโจมตีของบอสมีแพทเทิร์นง่ายเกินไป ก็ยิ่งทำให้เกมเพลย์น่าเบื่อไปอีกเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าระบบเปิดโลกกว้างเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมพัฒนากล้าทำเกมที่ไม่เหมือนเกมอื่น เพราะนี่อาจเป็นเกมสยองขวัญเอาตัวรอดเกมแรกและเกมเดียวในตอนนี้ ที่ผู้เล่นสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ รวมถึงมีฟีเจอร์ที่มักไม่พบในเกมสยองขวัญอื่น ๆ เช่นมีระบบเวลากลางวัน-กลางคืน, เปลี่ยนชุดเสื้อผ้า, ทำเควสต์เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ และความต้องการอาหารกับการนอนหลับ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพดีขึ้นแต่อย่างใด Deadly Premonition ถูกวิจารณ์อย่างไม่มีชิ้นดีทั้งด้านประสิทธิภาพ เกมเพลย์ และภาพกราฟิก ซึ่งแน่นอนว่ารีวิวซะขนาดนี้ ตัวเกมก็ไม่น่าเล่นอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นมีอีกสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ช่วยกอบกู้เกมดังกล่าวได้คือ “เนื้อเรื่อง” แล้วตรงส่วนนั้นเอง ก็ทำให้เกมนี้เป็นที่ถูกสายคัลท์ในที่สุด
เพราะเนื้อเรื่องมั่วซั่ว ตัวละครเพี้ยน ทำให้เกมดังกล่าวเริ่มเฉิดฉาย
ใน Deadly Premonition คุณได้รับบทเป็น Francis York Morgan (หรือหลายคนมักเรียกว่า York) เจ้าหน้าที่พิเศษในชนบทเล็ก ๆ ใน Greenvale ที่ต้องสืบหาฆาตกร Raincoat Killer ที่ลงมือฆาตกรรมหญิงสาววัย 18 ปีอย่างโหดเหี้ยม ซึ่ง York ต้องสืบสวนหลักฐานหรือผจญภัยกับอันตรายต่าง ๆ เพื่อหาคนร้ายตัวจริงให้จงได้ โดยระหว่างการสอบสวน เขาจะต้องพบเหตุการณ์กับสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติมากมายที่หวังจะปลิดชีพเขา
ก็ต้องบอกเลยว่าเนื้อเรื่องไม่ได้มีคุณภาพระดับ Masterpiece หรือมีคุณภาพดีมากเหมือนกับ Silent Hill 2 และแน่นอนว่ามันเข้าขั้น “แย่” เลยก็ว่าได้ ไหนจะทั้งบทสนทนาไม่เข้ากับบรรยากาศเกม โครงสร้างเนื้อเรื่อง Ckieche การตัดฉากคัดซีนก็เร็วเกินไปจนติดตามเนื้อหาไม่ทัน รวมถึงเนื้อเรื่องค่อนข้างมั่วซั่วจับใจความไม่ได้อีกด้วย
แต่ทว่าองค์ประกอบดังกล่าว กลับทำให้เนื้อเรื่องค่อนข้างครบรสอย่างน่าประหลาด ในเกมนี้คุณได้ทั้งเนื้อหาดรามา ตลก สยองขวัญ เหนือธรรมชาติ และคาดเดาฉากต่อไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีหลายครั้งมากที่การเล่าเรื่องที่มีบรรยากาศซีเรียส สยองขวัญ จู่ ๆ กลายเป็นตลกขำขันด้วยบทสนาไม่สมเหตุสมผล การปะติดปะต่อเนื้อหาไม่ลงตัว และการแสดงสุดแย่ของพระเอกที่มักยิ้มให้ผู้เล่นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ตัวละครในเกมเองก็จัดว่าน่าสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะ Francis York Morgan (หรือหลายคนมักเรียกว่า York) เป็นคนพิลึกกึกกือชอบพูดคุยกับ Zach ซึ่งเป็นตัวละคร Alternate-Ego ที่ไม่มีการตอบโต้ใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงเขาเป็นคนชื่นชอบแซนด์วิช กาแฟมากจนสามารถวิจารณ์รสชาติเหมือนนักชิมอาหารตัวยง และระหว่างการดำเนินเนื้อเรื่อง ผู้เล่นจะพบตัวละครแปลกประหลาดอีกมากมายที่ไม่คิดว่า “เหมาะสำหรับเกมแนวสยองขวัญ” ตั้งแต่ชายแก่สวมหน้ากากกันแก๊สที่ไม่ยอมพูดแม้แต่คำเดียว, ตำรวจหญิง มีสกิลทำอาหารแย่ และ NPC อีกหลายคนที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ผู้เล่นเสมอ
แม้ว่าบางฉากจะสามารถออกแบบบรรยากาศสยองขวัญที่ได้อย่างน่าขนหัวลุกอยู่บ้าง แต่คุณภาพเนื้อเรื่องโดยรวมนั้น ถือว่าสอบตกด้านเนื้อเรื่องในทุกองค์ประกอบอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ด้วยคุณภาพเนื้อเรื่องในเกณฑ์แย่มากจนหลายคนคาดไม่ถึง ทำให้เนื้อเรื่องเกมมีความสนุกสนานอย่างน่าประหลาด หากทิ้งความสมเหตุสมผลกับตรรกะออกจากสมองทั้งหมด
กระแสตอบรับ
Deadly Premonition ขึ้นแท่นเป็นเกมที่ประสบความล้มเหลวในด้านยอดขาย ที่สามารถทำยอดขายได้เพียง 50,000 ชุดหลังจากวางจำหน่ายผ่านไปสามเดือน (ซึ่งก็ไม่แปลกใจละ หลังจากมีกระแสรีวิวแย่ซะขนาดนี้)
แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยกระแสตอบรับจากฝั่งเกมเมอร์กับเจ้าสำนักที่สวนทางกันมาก หรือแม้แต่ฝ่ายผู้เล่นเองก็มีทั้งคนเกลียดกับหลงรักเกมดังกล่าว Deadly Premonition จึงกลายเป็นเกม Cult Following ที่มีแฟนบางคนชื่นชอบ รวมถึงได้บันทึกลงสถิติ Guinness World Records: The Videogame ในสาขา “เกมสยองขวัญสุดขั้วที่สุด” และยกย่องเป็นตัวอย่าง “Video Game as Art” หรือเกมที่สร้างขึ้นเพื่อยกระดับงานศิลปะอย่างแท้จริง
และล่าสุด เกมดังกล่าวได้รับการพัฒนาภาคต่อในชื่อว่า Deadly Premonition 2 : A Blessing in Disguise สำหรับ Nintendo Switch โดยยังไม่มีการประกาศวันวางจำหน่ายชัดเจน ส่วนภาคต่อจะรักษามาตรฐานความคัลท์ได้หรือไม่นั้น ก็คงต้องคอยดูกันต่อไป